ประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ในประเทศไทย

“ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป คุณจะไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางออนไลน์ในประเทศไทยได้อีกต่อไป”

ตามที่ราชกิจจานุเบกษาลงประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป โดยประกาศฉบับนี้ออกมาท่ามกลางกระแสความนิยมในการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงการระบาดของ COVID-19 และยังมีผลบังคับใช้ก่อนถึงเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองเนื่องในวันสิ้นปีและวันปีใหม่ 2564 เพียงไม่กี่วันเท่านั้น คงต้องยอมรับว่าการทำตลาดของผู้ประกอบการค้าขายแอลกอฮอล์คงจะมีความท้าทายเพิ่มมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน

ซึ่งประกาศดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางช่องทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้ เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2563 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 เนื่องจากในปัจจุบันมีวิวัฒนาการของการใช้เทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการและร้านค้าบางส่วนใช้ช่องทางในการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น ทำให้ยากต่อการควบคุมเกี่ยวกับเรื่องวัน เวลา สถานที่ และบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่ายและลดผลกระทบอันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมีความจำเป็นในการออกประกาศ เพื่อกำหนดเป็นมาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 30 (6) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นายกรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

  1.  ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรงหรือเป็นการดำเนินการใด ๆ ในลักษณะการเชิญชวนให้ซื้อ การเสนอขายหรือการขายสินค้าหรือบริการต่อผู้บริโภคโดยตรงด้วยการตลาดหรือบริการการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ขายและผู้บริโภคซื้อขายได้โดยไม่ต้องพบกัน
  2. ประกาศนี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีการซื้อขายและการชำระราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ณ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  3. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางช่องทางออนไลน์ที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถทำอีคอมเมิร์ซได้อีกต่อไป และมันอาจส่งผลให้พวกเขาหันไปเปิดร้านค้าแบบออฟไลน์ที่มีหน้าร้านอยู่จริงมากยิ่งขึ้น หรืออาจมีการยื่นเรื่องร้องเรียนเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายในอนาคต เช่น การหามาตรการในเรื่องของกลไกการตรวจสอบข้อมูลของผู้ซื้อหรือการตรวจสอบอายุของผู้ซื้อ ซึ่งความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ประกอบการต้องเป็นไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เป็นต้น ซึ่งเราก็ต้องติดตามความเคลื่อนไหวด้านกฎหมายที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต นอกจากการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านทางช่องทางออนไลน์แล้ว การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไป ทั้งนี้ทางรัฐบาลได้ขอความร่วมมือในการปฏิบัติตามและสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบการ ร้านค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้รับทราบถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวว่าการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะถูกใช้อย่างเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ทั้งผู้ประกอบการค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายเล็กและผู้ประกอบการค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ และมุ่งเน้นไปที่วิธีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้บริโภคโดยตรงผ่านทางช่องทางออนไลน์ โดยมีเหตุผลสำคัญเพื่อเป็นการป้องกันเยาวชนจากการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากเยาวชนสามารถทำการซื้อขายบนออนไลน์ได้โดยง่าย อีกทั้งการซื้อขายผ่านทางช่องทางออนไลน์นั้นเป็นวิธีที่ยากต่อการควบคุม โดยหากมีการละเมิดกฎหมายจะมีการจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เนื่องจากคนไทยมีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาอย่างช้านานและมีอัตรานักดื่มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันแอลกอฮอล์ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุและปัญหาในด้านต่าง ๆ การบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์จึงถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างมีความจำเป็น โดยนอกจากประกาศฉบับนี้แล้ว ประเทศไทยก็มีข้อห้ามเกี่ยวกับแอลกอฮอล์อยู่ก่อนหน้ามากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ข้อห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อมอีกด้วย โดยสิ่งที่ห้ามทำ เช่น ห้ามโพสต์ให้เห็นยี่ห้อ, ห้ามโพสต์ชวนให้ดื่ม, ห้ามโพสต์สรรพคุณ, ห้ามโพสต์ชมหรือชวนให้ลอง, ห้ามโพสต์แก้วเบียร์ที่มียี่ห้อ หรือ เวลาไปเที่ยวต่างประเทศห้ามถ่ายภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาโพสต์ เพราะอาจจะทำให้เกิดการอยากบริโภค เป็นต้น และในทุก ๆ ปีทางภาครัฐก็จะมีการเตรียมตัวรณรงค์ความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลต่าง ๆ รวมถึงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้เข้ามาอีกด้วย

ถึงแม้ว่าเราต้องการที่จะเห็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับการแก้ไข เราก็ยังหวังว่าการค้าขายแอลกอฮอล์ออนไลน์ในประเทศไทยจะสามารถกลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้งในอนาคต

Exit mobile version