tpl_newsletterWine

แหล่งผลิตไวน์ & แผนที่ไวน์ในประเทศไทย

แหล่งผลิตไวน์ & แผนที่ไวน์ในประเทศไทย

Thailand-Wine-Map.pdf | Thailand-Wine-Map.png (High Definition)

ประเทศไทยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่ท่องเที่ยว, ด้านวัฒนธรรม, และด้านอาหาร แต่การดื่มไวน์ในประเทศไทยนั้นไม่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรมไทยในอดีต เนื่องจากคนไทยให้ความสำคัญกับเบียร์และสุรามากกว่า 

ไร่องุ่นที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยมีขึ้นในปี 1960 ซึ่งเป็นการปลูกองุ่นแบบรับประทานผลสด ประเทศไทยนั้นอยู่ระหว่างละติจูด 5-20 องศาเหนือ เป็นประเทศที่มีความร้อนและมีความชื้นสูงเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ ด้วยภูมิอากาศแบบเขตร้อนของประเทศไทย ทำให้ความพยายามในการผลิตไวน์ในช่วงแรกนั้นไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากโรคและเชื้อราสามารถเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งฤดูกาลนั้นไม่เหมาะสมสำหรับระยะพักตัวของเถาองุ่น 

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นความท้าทายสำหรับการผลิตไวน์ที่มีคุณภาพ ผู้ผลิตไวน์ในประเทศไทยจึงนำเอาเทคโนโลยีและเทคนิคในการปลูกองุ่นแบบปรับตัวเข้ามาใช้ ปัจจุบันไวน์ไทยกำลังได้รับความนิยมจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นไวน์เขตละติจูดใหม่ที่มีทั้งความยากในการผลิตแต่ก็ทำได้ดีมากทีเดียว

ประเทศไทยมีแหล่งผลิตไวน์หลักอยู่ 4 แหล่ง ซึ่งมีสภาพดินและสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน

1. ภาคเหนือของประเทศไทย

แหล่งผลิตไวน์ & แผนที่ไวน์ในประเทศไทย

แหล่งผลิตไวน์ทางภาคเหนือของประเทศไทยอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางเหนือประมาณ 800 กิโลเมตร มีพื้นที่ปลูกองุ่นทั้งหมดประมาณ 40 เอเคอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของไร่องุ่นและโรงกลั่นไวน์ที่มีชื่อเสียง เช่น โรงกลั่นไวน์ ชาโต เดอ เลย (Chateau de Loei) ที่ภูเรือ จังหวัดเลย, โรงกลั่นไวน์ชาละวัน (Chateau Shala One) ที่จังหวัดพิจิตร, และโรงกลั่นไวน์แม่จันไวเนอรี่ (Mae Chan Winery) ที่จังหวัดเชียงราย 

ลักษณะภูมิประเทศของแหล่งผลิตทางภาคเหนือมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลอยู่ที่ 300 ถึง 600 เมตร, ละติจูด 17-18 องศาเหนือ สภาพดินมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่แหล่งผลิต เช่น ดินแดง, ดินหินปูนผสมกรวด, และดินร่วน อุณหภูมิระหว่างการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม อยู่ที่ 10 – 25 องศาเซลเซียส สายพันธุ์องุ่นที่นิยมปลูกได้แก่ Shiraz, Tempranillo, Dornfelder, Durif

2. เขาใหญ่, จังหวัดนครราชสีมา

แหล่งผลิตไวน์ & แผนที่ไวน์ในประเทศไทย

เขาใหญ่ถือแหล่งปลูกไวน์ยอดนิยมของประเทศ เมื่อขับรถจากกรุงเทพฯ ไปทางเหนือประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งคุณก็จะพบกับไร่องุ่นมากมาย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกองุ่นกว่า 240 เอเคอร์, ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 300-550 เมตร, ละติจูด 14.3 องศาเหนือ 

สภาพดินเป็นดินแดงและดินหินปูนผสมดินเหนียว ภูมิภาคนี้มีอุณหภูมิระหว่างฤดูการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 15-20 องศาเซลเซียสในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ไร่องุ่นและโรงกลั่นไวน์ทางด้านตะวันตกที่มีชื่อเสียง เช่น โรงกลั่นไวน์ พีบี วัลเล่ย์ (PB Valley), โรงกลั่นไวน์กราน-มอนเต้ (GranMonte) ส่วนทางด้านตะวันออกเป็นที่ตั้งของโรงกลั่นไวน์ ชาโต เดส์ บรูมส์ (Chateau des Brumes) สายพันธุ์องุ่นที่นิยมปลูกกันมากคือ Shiraz, Tempranillo, Chenin Blanc, Colombard, Cabernet Sauvignon

3. หัวหิน, จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

แหล่งผลิตไวน์ & แผนที่ไวน์ในประเทศไทย

ขับรถจากกรุงเทพฯ ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 3 ชั่วโมงก็จะถึงพื้นที่ปลูกองุ่นที่อยู่ไม่ไกลจากชายทะเลหัวหิน หัวหินมีภูมิประเทศเป็นที่ราบ มีหาดทรายที่อุดมสมบูรณ์ ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 150-200 เมตร จากสภาพดินร่วนปนทรายและสายลมที่พัดผ่านมาจากมหาสมุทรอย่างสม่ำเสมอ 

ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้องุ่นสายพันธุ์นานาชาติสามารถเจริญเติบโตได้อย่างดี พื้นที่ปลูกไวน์ในหัวหินมีอยู่ประมาณ 99.5 เอเคอร์ อุณหภูมิระหว่างฤดูการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 18-24 องศาเซลเซียสในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม หัวหินเป็นที่ตั้งของโรงกลั่นไวน์มอนซูน แวลลีย์ (Monsoon Valley) จากบริษัทสยามไวเนอรี่ (Siam Winery) องุ่นที่นิยมปลูกคือองุ่นสายพันธุ์ Colombard, Viognier, Muscat, Chenin Blanc, Sangiovese, Shiraz

4. พัทยา, จังหวัดชลบุรี

แหล่งผลิตไวน์ & แผนที่ไวน์ในประเทศไทย

อีกหนึ่งพื้นที่ปลูกองุ่นที่อยู่ไม่ไกลจากชายทะเล ขับรถจากกรุงเทพฯ ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 2 ชั่วโมง ไร่องุ่นและโรงกลั่นไวน์ซิลเวอร์เลค (Silverlake Vineyard) ถือเป็นผู้บุกเบิกในการปลูกองุ่นบนเนินเขาที่พัทยา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกองุ่นอยู่ประมาณ 32.86 เอเคอร์ 

ภูมิประเทศมีระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 110 เมตร สภาพดินทรายปนกรวด อุณหภูมิระหว่างฤดูการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 20-24 องศาเซลเซียสในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม องุ่นที่นิยมปลูกคือองุ่นสายพันธุ์ Shiraz, Chenin Blanc, Colombard 

ชนิดและประเภทของไวน์ที่ผลิตในประเทศไทย

นอกเหนือจากการทำไวน์จากองุ่นแล้ว ประเทศไทยยังมีการผลิตไวน์ผลไม้หลากหลายชนิด ซึ่งตัวเลือกยอดนิยม ได้แก่ สับปะรด, กระเจี๊ยบแดง, เสาวรส, หม่อน และแม้แต่พืชสมุนไพรไทยที่มีการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพก็ถูกนำมาผสมกับผลไม้อีกด้วย 

ตัวอย่างเช่น ไวน์กระชายดำมีสรรพคุณในการดื่มเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย, ไวน์กระท้อน มีกรดแทนนิกและสารต่อต้านอนุมูลอิสระในระดับสูง นอกจากนี้ประเทศไทยก็ยังมีการผลิตไวน์ประเภทต่าง ๆ มากมาย เช่น สปาร์คกลิ้งไวน์ เป็นต้น

ไวน์ไทยส่วนมากจะถูกผลิตขึ้นมาเพื่อให้จับคู่กับเมนูอาหารที่มีเผ็ดได้อย่างดี โดยรสชาติจะมีความนุ่มนวล กลมกล่อม มีรสและกลิ่นผลไม้ ไวน์ไทยกำลังได้รับความสนใจจากในประเทศและจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และส่วนมากร้านอาหารไทยทั่วโลกก็มักจะมีตัวเลือกของไวน์ไทยให้คุณได้ลิ้มลองอีกด้วย 

ประเทศไทยจึงถือเป็นแหล่งผลิตไวน์ที่มีความแตกต่าง, มีความยืดหยุ่น, และเป็นอีกหนึ่งแหล่งผลิตไวน์ของโลกที่มีความน่าสนใจและน่าจับตามอง

Onph

Onph เป็นนักเขียนจากประเทศไทย เธอรักการเดินทางและได้ตกหลุมรักบรรยากาศของไร่องุ่นตั้งแต่เธอยังเด็ก และตอนนี้เธอก็เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบในการดื่มไวน์ หลังจากทำงานในอุตสาหกรรมอาหารมาหลายปี เธอได้ก้าวเข้ามาทำงานเกี่ยวกับไวน์ จากนักท่องเที่ยวไร่องุ่น กลายมาเป็นคอไวน์ จนได้ทำงานเป็นนักแปลเว็บไซต์เกี่ยวกับไวน์ และตอนนี้เธอได้กลายมาเป็นนักเขียนเกี่ยวกับไวน์ เธอสนุกที่ได้มีโอกาสถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับไวน์ที่เธอมีให้กับผู้อ่านของเธอ

โพสต์ที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button
newsletter-signup-img.jpeg
รับข่าวสารล่าสุด

สมัครรับจดหมายข่าวของเรา

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารและเคล็ดลับเกี่ยวกับไวน์ล่าสุด รวมถึงข้อเสนอพิเศษและคำเชิญเข้าร่วม MasterClasses